การจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การจัดการความรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ภายหลังจากการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยชื่อ "มหาวิทยาลัยนเรศวร" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมครบทุกสาขาวิชาทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทุกระดับการศึกษาทั้งสิ้น 208 หลักสูตร มีนิสิตศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 คน และมีอาจารย์ประจำกว่า 1,400 คน
วิสัยทัศน์
มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมระดับแนวหน้าในกลุ่ม 10 อันดับแรกของประเทศภายในปีพ.ศ.2560
พันธกิจ
พันธกิจทั้ง 4 ด้านของมหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุศิลปะและวัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรจะยึดแนวทาง 3 ด้านในการบริหารจัดการและการดำเนินงานเป็นหลัก ได้แก่
บริหารและการจัดการการศึกษาทั้งระบบในลักษณะการผสมผสาน (Hybrid) เพื่อให้องค์ความรู้ และทักษะมีความหลากหลาย มีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
        - บริหารและการจัดการการศึกษาในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วน (Partnerships) เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิต ผลงานวิจัย และการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
        - บริหารและการจัดการการศึกษาในรูปบบการสร้างเครือข่าย (Networking) เพื่อให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการผลิตบัณฑิต ผลงานวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การจัดการข้อมูลและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวร
การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management : UKM) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ก่อตัวขึ้นเอง (self-organize) โดยความพร้อมใจมารวมตัวกัน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะทําหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักของเครือข่ายเพื่อประสานงานในการดําเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมหลักที่จัดเป็นประจําในรูปแบบการเสวนาทุก 3 เดือน โดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละมหาวิทยาลัย และจะเปลี่ยนกันเป็นผู้ประสานงานหลักประจําปี

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

1. สร้างคนที่มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในกระบวนการของ KM เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีลักษณะของบุคคลเรียนรู้ (Personal Mastery) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. สร้างนวัตกรรม สำหรับส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสามารถนำ KM ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานของตนเองได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรเรียนรู้ (Learning Organization: LO) ที่มีวัฒนธรรมวิจัยและมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว
 3. ติดตาม ประเมินผล เพื่อมอบรางวัลและสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีผล การดําเนินงานดีเด่น รวมทั้งนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาการดําเนินงานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง(Continuous Quality Improvement : CQI)

กลยุทธ์การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลันนเรศวร

1. สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนดําเนินงานของ KM พร้อมเผยแพร่ให้ประชาคมในมหาวิทยาลัยทราบโดยทั่วกัน
2. สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ KM ให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย (ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และศิษย์เก่า)
3. สร้างผู้บริหารจัดการระบบการจัดการความรู้ (Chief Knowledge Officer, CKO) และผู้อํานวยความสะดวกในการจัดการความรู้ (Knowledge Facilitator, KF) ในระดับต่างๆให้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
4. สร้างเวทีแบ่งปันความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ (ทั้งแบบ F2F : Face to Face และ B2B : Blog to Blog หรือ Bit to Bit)
5. ส่งเสริมให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice, CoP) ที่หลากหลายรูปแบบ
6. พัฒนาคลังความรู้สําหรับประยุกต์ใช้ในการทํางานด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (GotoKnow และอื่นๆ)
7. แสวงหา Best Practices ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อนํามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานย่อยภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด
8. สร้างเครือข่ายของการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน และองค์กรวิชาการด้าน KM
9. ติดตามและประเมินผลเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลสําเร็จในการประยุกต์ใช้ KM อยู่ตลอดเวลา
10. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น มีการมอบรางวัล NU Blogger Award

ปัจจัยความสำเร็จการจัดการความรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • การมีระบบและกลไกที่ชัดเจนที่จะนํา KM ไปผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย
  • การก่อเกิดวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ความจริงใจและจริงจังของบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำคนละเล็กละน้อยจากเล็กสู่ใหญ่มากขึ้นตามลำดับของการพัฒนา
  • การให้รางวัลเป็นแรงจูงใจในการดำเนินการจัดการความรู้ เช่น รางวัล NU Blogger Award มอบให้กับบล๊อกที่มีเนื้อหาดีเด่น มีข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงาน รางวัลสุดคะนึง มอบให้กับบล๊อกที่มีความโดดเด่นในการบันทึกสม่ำเสมอ มีการติดป้ายในบล็อกชัดเจน มีรูปแบบการเขียนที่ น่าติดตาม โดยเฉพาะบันทึกความรู้ฝังลึกที่ได้มาจากการปฏิบัติจริง รางวัลจตุรพลัง เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็น คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณวิศาสตร์ และคุณประสาน ที่ดีเด่น เพื่อให้บุคลากรได้เห็นแบบอย่างของการปฏิบัติของบุคคลที่ได้รับรางวัลที่ดี ที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานได้
  • การมีเครือข่ายพันธมิตร UKM ที่ช่วยเสริมพลังซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.nu.ac.th/th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น