การจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์





การจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป
         
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย โดยถือกำเนิดจากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 ต่อมาได้ขยาย ยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และพัฒนาจนกระทั่งเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ในระหว่าง พ.ศ. 2486 - 2504 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ 6 ฉบับ ฉบับที่ใช้นานที่สุดคือ พ.ศ. 2511 สำหรับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2541 เป็นฉบับปัจจุบันได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 15 ก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 
          ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินภารกิจเพื่อสนองนโยบายการกระจายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาลใน
 4 วิทยาเขต ได้แก่
          1. วิทยาเขตบางเขน
          2. วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
          3. วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี
          4. วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
         
ปรัชญา
          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันที่มีปณิธานมุ่งมั่น ในการสั่งสมเสาะแสวงหา และพัฒนาความรู้ให้เกิดความเจริญงอกงามทางภูมิปัญญา ที่เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรม และคุณธรรม ตลอดจนเป็นผู้ชี้นำทิศทางสืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของสังคม เพื่อความคงอยู่ ความเจริญ และความเป็นอารยะของชาติ
วิสัยทัศน์

         
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการระดับนานาชาติ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล เป็นแกนนำในการระดมภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และให้มีอำนาจต่อรองในประชาคมโลก
พันธกิจ
          สะสมภูมิปัญญา สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลาย สร้างคนที่มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล อยู่ในคุณธรรม และมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตลอดจนสร้างผลงานที่มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมีการบริหาร
ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมพัฒนากับชุมชน และรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการนำประเทศไปสู่ความผาสุกและมั่นคง

กลยุทธ์ของการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-KM Strategy)
                  กลยุทธ์การจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นการบูรณาการยุทธศาสตร์จัดการความรู้  4 องค์ประกอบ ได้แก่ Learning, Integrated, Network Strategy, Knowledge : (LINK)
                   Learning Strategy  เป็นการให้ความสำคัญกับกระบวนการการเรียนรู้ของบุคคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร  เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาองค์กรให้กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาสังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
                    Integrated Strategy เป็นกระบวนการบูรณาการการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการความรู้โดยเน้นในรูปแบบของความรู้ที่กระจ่างชัด (Explicit Knowledge)  เฉพาะอย่างยิ่งเน้นในประเด็นของการจัดการจัดเก็บความรู้ การแบ่งปันความรู้เพื่อให้สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ที่สร้างขึ้นใหม่นั้นสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยได้อีก ในส่วนนี้จำเป็นต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสนับสนุน
                    Network Strategy  เป็นการให้ความสำคัญกับความรู้ที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย ไม่ว่าความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก  หน่วยงานวิจัย  มหาวิทยาลัยทั้งภายในประเภทและต่างประเทศ  รวมถึงความรู้จากองค์กรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย  โดยการสร้างความร่วมมือในรูปแบบของ GUI (Government – University-Industry : GUI) เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมในการถ่ายทอดและบูรณาการความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
                     Knowledge Strategy  เป็นการบริหารจัดการ สร้างและใช้ประโยชน์จากความรู้ภายในมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนของความรู้ทุกรูปแบบทั้งที่เป็นความรู้แฝง (Tacit knowledge) และความรู้แบบกระจ่างชัด (Explicit knowledge) ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันความรู้ระหว่างบุคลากรและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งสร้างและใช้
องค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ขั้นตอนการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


  

ขั้นตอนที่ 1 การถอดความรู้ (Capture Knowledge) 
               การถอดความรู้  หมายถึง วิธีการในการรวบรวมความรู้  ประสบการณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานจากผู้เชี่ยวชาญจากในองค์กร

             ขั้นที่ 1 การกำหนดความรู้ (Identify Knowledge)
              การกำหนดความรู้  หมายถึง การพิจารณาของผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ เพื่อระบุว่าความรู้อะไรบ้างที่บุคลากรในองค์กรจำเป็นต้องรู้  โดยพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ  เป้าหมายของหน่วยงาน  โดยความรู้ที่สำคัญต่อองค์กร ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับผู้รับบริการ   ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ  ประสบการณ์ความรู้ด้านกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรสั่งสมมายาวนาน  ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยทำให้บุคลากรสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง  พัฒนางานให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้

               ขั้นที่ 2 การจัดลำดับความสำคัญของความรู้ (Set Piority of Knowledge)
               การจัดลำดับความสำคัญของความรู้  หมายถึง  การเรียงลำดับความสำคัญว่าความรู้อะไรบ้างที่จำเป็นมากที่สุดและรองลงไปตามลำดับความสำคัญในการปฏิบัติงาน  โดยพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมถึงเป้าหมายตามแผนกลยุทธ์ขององค์กรเป็นอย่างไร  จึงทำให้ทราบว่าความรู้ใดที่บุคลากรจำเป็นต้องใช้ประกอบในการปฏิบัติบัติงานให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้  ถ้าหากไม่มีความรู้เรื่องนั้นจะส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงถ้าหากองค์กรสามารถค้นหาความรู้เรื่องนั้นได้  จะทำให้การพัฒนาบุลากรตรงตามเป้าหมายขององค์กรได้
               ขั้นที่ 3 การแสวงหาความรู้ (Acquisition Knowledge)
               การแสวงหาความรู้  หมายถึง  การค้นหาจากแหล่งความรู้ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานโดยดำเนินการวิเคราะห์ถึงแหล่งความรู้ที่องค์กรจำเป็นต้องมี  และที่มีอยู่เหล่านั้นจะมาจากที่ใดบ้าง เช่น  ผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร  ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์  ห้องสมุด  งานวิจัย  เอกสาร ตำรา จุลสาร  วารสารเป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น  การจัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญขององค์กร  โดยการระบุรายชื่อของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรว่ามีใครบ้าง ซึ่งอาจจะมาจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร  เพราะการมีรายชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อ ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรภายในองค์กรสามารถติดต่อ  สอบถามหรือปรึกษาปัญหาการทำงานได้อย่างสะดวก   เพราะการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผล คือ การลดค่าใช้จ่าย  การลดเวลาการทำงานให้น้อยลง  ดังนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติงานประสบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้  แต่มีรายชื่อผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวก็จะทำให้การทำงานเกิดความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น  เช่น รายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยมีใครบ้าง  เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก  และช่องทางในการติดต่อที่สามารถสื่อสารระหว่างกันตามความเหมาะสมขององค์กร  อาจจะเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น

             ขั้นที่ 4 การสกัดความรู้ (Knowledge Codification and Refinement)  
            การสกัดความรู้ หมายถึง การสรุป การประมวลผล  และการกลั่นกรองจากการถอดองค์ความรู้ บทเรียนจากการเรียนรู้ (Lesson Learned)  และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าขององค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในองค์กร  โดยสามารถใช้วิธีเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมภาษณ์ (Interview)  
การสังเกต (Observe)  การสนทนนา (Dialogue)  การประชุม (Meeting)  การอภิปราย  (Discussion) การบรรยาย (Lecture)  การสังเคราะห์เอกสาร(Synthesis Document)  เป็นต้น   หลังจากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาสรุปในลักษณะของแผนผังความคิด (Mind Map) แผนผังกระบวนการ (Flow Chart) ขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Workflow) ฯลฯ  ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้นำความรู้ดังกล่าวไปใช้งานเป็นหลัก

                ขั้นที่ 5 การตรวจสอบความถูกต้อง (Validating  Knowledge) 
               การตรวจสอบความถูกต้อง  หมายถึง  วิธีการประเมินความถูกต้อง  ความเหมาะสม และความสมบูรณ์ของสารสนเทศ  และความรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสำคัญของกรถอดความรู้ คือ ความรู้ที่ได้ต้องสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาในการทำงานต่าง ๆ ได้  ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นความรู้ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนางานและพัฒนาองค์กร

 ขั้นตอนที่ 2 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing)
                การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  หมายถึง  กระบวนการ หรือกิจกรรมที่สร้างให้เกิดความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการเรียนรู้ โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีหลักที่สำคัญ คือ การให้ความรู้ที่เหมาะสมกับคนและเวลา  สำหรับประเภทของการถ่ายทอดความรู้ Dixon (2000)  ได้กล่าวไว้   ประเภท  ได้แก่
1.    การถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง (Serial Transfer)  เป็นการเคลื่อนของความรู้ของบุคคลไปสู่กลุ่มหรือ
สาธารณาชนซึ่งสามารถบูรณาการความรู้จนเป็นความรู้ของทุกคนในที่ทำงาน
2.    การถ่ายทอดแบบใกล้ (Near Transfer) เป็นการเกิดซ้ำของการเรียนรู้ของคณะทำงานหนึ่งไปยังคณะทำงานที่ทำงานคล้ายกัน
3.    การถ่ายทอดแบบไกล (Far Transfer) เป็นการเกิดซ้ำของการเรียนรู้ของคณะทำงานหนึ่งไปยังอีกคณะทำงานโดยเฉพาะความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge)  และไม่ใช่งานประจำ
4.    การถ่ายทอดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Transfer) เป็นการถ่ายทอดความรู้หลักที่สำคัญขององค์กรเพื่อให้บรรลุถึงภารกิจตามกลยุทธ์ที่นาน ๆ อาจจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับองค์กร 
5.     การถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญ (Expert Transfer) สามารถเกิดขึ้นเมื่อคณะทำงานประสบปัญหาด้านเทคนิคที่ผิดปกติซึ่งขึ้นอยู่กับขอบข่ายความรู้ของผู้รับผิดชอบในการค้นหาผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ  ในองค์กรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้  หากพิจารณาถึงรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระหว่างบุคล ระหว่างบุคคลกับคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์สู่คอมพิวเตอร์  ทั้งนี้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อถูกสนับสนุนด้วยวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กรและความไว้วางใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากบุคลากรไม่เห็นคุณค่าของความรู้ และไม่ไว้วางใจว่าความรู้ที่มาจากเพื่อนร่วมงานจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ  ของตนได้

ขั้นตอนที่ 3  การนำความรู้ไปใช้ (Knowledge  Reuse)
                   การนำความรู้ไปใช้ หมายถึง  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำความรู้ที่ได้จากการถอดความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานของตนอย่างต่อเนื่องในองค์กร  โดยสามารถประยุกต์ (Apply) และบูรณาการ (Integrated) ความรู้ ทฤษฏี ประสบการณ์เดิมมาพัฒนาเป็นแนวคิด  เทคนิค  และวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น  เช่น การนำเทคนิคการสอนแบบจิตปัญญาของครูท่านหนึ่งที่ได้รับรางวัล  ในการนำความรู้ไปใช้ในช่วงแรกสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ได้กับนักเรียนในโรงเรียน แต่ในขณะที่ใช้วิธีดังกล่าว  อาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับความสนใจของผู้เรียน  ปัญหาดังกล่าวผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนได้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง  รวมถึงการเพิ่มเติมเทคนิควิธีสอนใหม่เข้าไปเพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้นได้  ทั้งนี้ในการนำความรู้ไปใช้มีเป้าหมายสำคัญ คือ องค์ความรู้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนา  คน  พัฒนางาน  และพัฒนาองค์กร
ขั้นตอนที่ 4  การเก็บรักษาความรู้ (Knowledge Maintenance) 
                การเก็บรักษาความรู้ หมายถึง  กระบวนการทบทวน  ความถูกต้อง  ความทันสมัยของความรู้ก่อนที่จะนำไปใช้ในระบบฐานความรู้ (Knowledge Base)  ขององค์กร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้จากความสำเร็จ (Best Practice)  เทคนิควิธีการ (Know-How) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆในการทำงาน  เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาได้จนกลายเป็นภูมิปัญญา(Wisdom)ขององค์กรได้  เพราะการจัดความรู้ในสังคมไทยปัจจุบันหลายองค์กรได้นำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ไปไว้บนเว็บไซต์ขององค์กร  โดยบางองค์กรยังไม่เคยนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปทดลองใช้จริง  หากมีการนำไปใช้แล้วพบปัญหา  หรือผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเจ้าของความรู้  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการตรวจสอบความถูกต้องความถูกต้องก่อนนำจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ให้กับบุคลากรท่านอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป   นอกจากนี้การทบทวนความถูกต้องจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพราะบริบทแวดล้อมในการทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ดังนั้น ความรู้ในการทำงนที่ดีจะต้องมีความถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ  ดังนั้นในการปรับปรุงความรู้จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำปีนี้เสร็จแล้วก็จบ  หากนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ซ้ำแล้วผลไม่ได้ตามที่คาดหวัง ผู้ที่รีบผิดชอบในการจัดเก็บความรู้ขององค์กรจะต้องนำมาปรับให้ทันต่อเหตุการณ์ด้วย

ปัจจัยความสำเร็จการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
          1.มีการกำหนดแนวทางการจัดการความรู้ขององค์การที่ชัดเจน เช่น ประชุมแนวทางการจัดการความรู้
สำรวจประเด็นความรู้ กำหนดเป้าหมายของความรู้
          2. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการจัดตั้ง CoP หรือชุมชนนักปฏิบัติ จัดกิจกรรมสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกิจกรรมทักษะการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการความรู้ขององค์กร
          3.มีการนำความรู้ไปใช้ เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานขององค์กร
          4.มีการเก็บและรักษาความรู้ และเผยแพร่ความรู้บนเว็บไซต์ KM ของมหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น